ขั้นตอนที่จำเป็นในการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ญี่ปุ่น

ขั้นตอนที่จำเป็นในการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ญี่ปุ่น


สวัสดีครับ! นากาโอกะครับ

ที่ผ่านมา ผมเคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง <วีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ)> เพื่อการทำธุรกิจที่ญี่ปุ่นอยู่บ้าง ครั้งนี้ผมจะอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจนะครับ แต่การจัดตั้งบริษัทที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ไม่ใช่ขั้นตอนการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) นะครับ ธุรกิจส่วนบุคคลก็สามารถขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) ได้เช่นกัน แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงนะครับ

1. กรณีที่ผู้บริหารไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น ต้องมีผู้ช่วยที่จะช่วยเริ่มกิจการ
→ ตามกฎหมายญี่ปุ่นแล้ว ชาวต่างชาติที่ไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถจัดตั้งบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนญี่ปุ่นร่วมลงทุนครับ แต่การดำเนินการหากไม่มีผู้มีที่อยู่ในญี่ปุ่น (จะเป็นคนญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติก็ได้) ช่วยแล้วจะลำบากมากครับ
2. จัดเตรียมบัญชีธนาคารญี่ปุ่นเพื่อโอนเงินทุนจดทะเบียน
→ การเปิดบัญชีธนาคารญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นเป็นไปได้ยากครับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยจัดตั้งบริษัทที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น
→ กรณีจัดตั้งบริษัทเพื่อขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) จำเป็นต้องมีเงินทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้านเยนครับ
3. หาสถานที่ที่ต้องการจัดตั้งบริษัท
→ ผู้ที่ไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น (หรือบริษัทที่คณะกรรมการทุกคนไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น) การหาที่เช่าสถานที่ก็คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เรื่องนี้ก็จำเป็นต้องมีผู้ช่วยที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นครับ
→ กรณีต้องการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) ต้องแยกที่ทำงานกับบ้านที่อยู่อาศัยนะครับ หากจะให้ที่ทำงานกับบ้านเป็นที่เดียวกันเงื่อนไขจะยุ่งยากมากจึงควรเลี่ยงครับ หรือกรณีที่เป็นแชร์ออฟฟิศ สัญญาของห้องทำงานของเราจำเป็นต้องมีกำแพงกั้น 4 ด้าน แยกออกจากคนอื่นอย่างชัดเจน และในสัญญาต้องระบุว่าเช่าเพื่อทำธุรกิจด้วยครับ

ประเทศญี่ปุ่นมีวีซ่าสตาร์ทอัพเพื่อสนับสนุนชาวต่างชาติที่จะเริ่มธุรกิจในญี่ปุ่น

→ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ชาวต่างชาติที่ไม่มีผู้ช่วยที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นก็ยากที่จะจัดตั้งบริษัทในญี่ปุ่นครับ ดังนั้นชาวต่างชาติที่มีแผนธุรกิจและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขขององค์กรท้องถิ่นญี่ปุ่น สามารถขอวีซ่าสตาร์ทอัพซึ่งวีซ่ามีอายุ 2 ปี โดยระหว่าง 2 ปีนั้นสามารถรับคำปรึกษาจากองค์กรท้องถิ่นและเริ่มเตรียมธุรกิจในญี่ปุ่นได้ครับ องค์กรท้องถิ่นที่สามารถออกวีซ่าสตาร์ทอัพได้ เช่น เขตชิบุย่าในกรุงโตเกียวครับ

4. เตรียมหนังสือรับรองลายมือชื่อหรือหนังสือรับรองตราประทับ
→ การจัดตั้งบริษัทจำเป็นต้องใช้หนังสือรับรองตราประทับครับ สำหรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น ต้องใช้หนังสือรับรองลายมือชื่อที่ออกโดยที่ว่าการของประเทศต้นทาง หรือให้ทนายความผู้มีอำนาจในการรับรองโนตารีเป็นผู้จัดทำเอกสารให้ครับ
5. จัดตั้งบริษัท
→ นิติบุคคลก็มีหลายประเภท ค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกันไปครับ ผมแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อเลือกประเภทที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ของเรามากที่สุดครับ

6. ยื่นคำร้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลให้กับกรมสรรพากรและอื่นๆ

→ นอกจากนี้ยังต้องยื่นคำร้องแจ้งเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนตามรูปแบบธุรกิจ หรือภาษีผู้บริโภคด้วยครับ การยื่นคำร้องนี้ถ้าทำผิดประเภทจะทำให้ขาดทุนไปมหาศาลเลย แล้วยังส่งผลต่อการดำเนินเรื่องธุรการให้ยุ่งยากในภายหลังอีกด้วยครับ
7. เปิดบัญชีธนาคารด้วยชื่อนิติบุคคล
→ เพื่อป้องกันอาชญากรรม จึงไม่สามารถเปิดบัญชีบริษัทได้ง่ายๆ จำเป็นต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหางานบริษัทให้พร้อมก่อน อีกทั้งถ้าตัวแทนกรรมการไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น การเปิดบัญชีธนาคารด้วยชื่อนิติบุคคลก็คงลำบาก ซึ่งคงต้องใช้บัญชีของผู้ช่วยที่อยู่ในญี่ปุ่นไปก่อนชั่วคราวครับ
→ การเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่นไว้ล่วงหน้า ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) ครับ
8. ว่าจ้างพนักงาน
→ กรณีต้องการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) อาจจำเป็นต้องจ้างคนโดยขึ้นอยู่กับเนื้อหางานครับ
9. ยื่นเรื่องทำประกันสังคม
→ ถึงแม้จะไม่ได้จ้างพนักงานแม้แต่คนเดียว ก็จำเป็นต้องยื่นเรื่องเข้าประกันสังคมครับ
→ กรณีต้องการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) จะมีการตรวจสอบว่าได้เข้าประกันสังคมอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
10. ยื่นเรื่องทำประกันการจ้างงาน
→ กรณีว่าจ้างพนักงาน จำเป็นต้องทำประกันการจ้างงานครับ
→ กรณีต้องการขอวีซ่าผู้บริหาร จะมีการตรวจสอบว่าได้เข้าประกันการจ้างงานอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
11. ขอใบอนุญาตเปิดกิจการ หากธุรกิจที่เราต้องการทำมีระเบียบที่ต้องใช้
→ จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าต้องใช้ใบอนุญาตเปิดกิจการหรือไม่ก่อนจัดตั้งบริษัท ดังนั้นปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญให้เรียบร้อยก่อนนะครับ
→ หากเจ้าตัวไม่มีที่อยู่ในญี่ปุ่น ต้องมีผู้ช่วยที่อยู่ในญี่ปุ่นครับ
12. สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมแผนธุรกิจและหลักฐานในการรับรองว่าธุรกิจนั้นจะสามารถดำเนินไปได้จริงครับ
→ แผนธุรกิจนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้จริง โดยต้องอธิบายให้ได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้อย่างไร และค่าใช้จ่ายในธุรกิจมีที่มาอย่างไรเป็นต้นครับ

นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการเตรียมตัวอื่นๆ อีกซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจที่เราอยากทำ แต่โดยพื้นฐานตามกฎหมายในการเริ่มต้นธุรกิจแล้วอย่างน้อยก็ต้องเตรียมตัวตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้นครับ กรณีที่ต้องการขอวีซ่าผู้บริหาร (เคเอคันริ) ตามหลักการแล้วต้องเตรียมตัวตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้นให้เสร็จทั้งหมดก่อนจึงจะได้วีซ่านะครับ

ส่วนขั้นตอนทางราชการที่ซับซ้อน จะทำด้วยตัวเองก็ได้ครับ แต่กรณีที่จัดการโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าครึ่งก็จะเป็นกรณีที่ “เจ้าตัวคิดว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญแล้วนั้นไม่ถือว่าเสร็จเรียบร้อยดี” สุดท้ายแล้วจะเสียผลประโยชน์มากกว่า เหมือนประโยคที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” นะครับ ดังนั้นผมแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและดำเนินการอย่างเหมาะสม แล้วก็อย่าลืมจ่ายค่าตอบแทนนั้นอย่างสมน้ำสมเนื้อเช่นกันนะครับ เพราะจากนั้นตัวคุณเองก็จะสามารถเริ่มต้นธุรกิจเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน

สำนักงานกฎหมาย สดใส โยชิทาเกะ นากาโอกะ
【ที่อยู่】3-9-27 Kamiosaki, Shinagawa-ku, Tokyo 141-0021
【วิธีการเดินทาง】https://goo.gl/maps/QR8vd9rH29jgVt5E8
【เบอร์ติดต่อ】070-5573-4404